Skip to content
OMEGA constellation deville seamaster speedmaster specialities
ย้อนกลับ

ต้านทานสิ่งที่มิอาจต้านทาน

irresistible resistible 1

ชิ้นงานที่กลั่นกรองจาก OMEGA Lifetime - The Magnetic Edition

การเอาชนะคำสาปของสนามแม่เหล็กเป็นภารกิจแห่งศตวรรษของวงการผลิตนาฬิกา และด้วยมาตรฐาน Master Chronometer ทาง Omega ได้ผสานรวมเสน่ห์อันน่าหลงใหลโฉมใหม่เข้ากับศาสตร์แห่งความเที่ยงตรงของเรือนเวลา

นวัตกรรมที่ผ่านการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องช่วยให้มั่นใจได้ว่านาฬิกาข้อมือสมัยใหม่จะอัดแน่นไปด้วยคุณภาพ การบอกเวลาที่เที่ยงตรง และอายุการใช้งานที่ยืนยาวจนน่าทึ่ง ซึ่งในขณะที่ความทุ่มเทส่วนใหญ่ของช่างผลิตนาฬิกาเป็นสิ่งที่สามารถชื่นชมได้ในทันที ทว่าการแก้ปัญหาที่ได้รับการถกเถียงว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในการผลิตนาฬิกานั้นกลับไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าไรนัก ซึ่งอาจเป็นเพราะลักษณะของปัญหาที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า นั่นก็คือ อำนาจของสนามแม่เหล็ก

ผู้สวมใส่นาฬิกาส่วนใหญ่ต่างก็ไม่ได้ตระหนักถึงอันตรายของสนามแม่เหล็กที่มีต่อเรือนเวลาของตน และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีผู้ผลิตนาฬิกาเพียงไม่กี่รายที่นำเสนอนาฬิกาที่มีการป้องกันผลกระทบจากสนามแม่เหล็ก ถึงแม้ว่าสนามแม่เหล็กจะไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่โอกาสที่นาฬิกาข้อมือของเราจะได้รับผลกระทบจากสนามแม่เหล็กนั้นกลับเพิ่มมากขึ้นทุกปี แม้จะมีข้อมูลที่แสดงชัดเจนว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ซับซ้อนนั้นมีการแผ่รังสีแม่เหล็กออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคลที่มีส่วนของลำโพงและหัวล็อคแม่เหล็ก แต่เราก็ไม่ควรมองข้ามแม่เหล็กในรูปแบบที่พื้นฐานที่สุดซึ่งเราพบเจอทุกวัน เช่น แม่เหล็กที่ติดภาพถ่ายครอบครัวบนตู้เย็น

[READ_MORE]

นาฬิกาที่แสนเรียบง่ายกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรามากเสียจนเราลืมเลือนการมีอยู่ของมัร แต่นาฬิกาข้อมือที่เราพกพาเพื่อใช้บอกเวลาในแต่ละวันของเรานั้นคืออุปกรณ์ที่มีความเที่ยงตรงสูง อีกทั้งยังเป็นอุปกรณ์ที่มีความซับซ้อนอย่างยิ่งจากกลไกซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานที่เที่ยงตรงและน่าเชื่อถือทุกเมื่อที่เราต้องการ คุณสามารถดูเวลาที่ปรากฏบนหน้าปัดและมั่นใจได้ถึงเวลาที่เที่ยงตรงที่เราส่งมอบได้เสมอ แต่สนามแม่เหล็กนั้นคือพลังที่อาจมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งสามารถลดทอนประสิทธิภาพในการบอกเวลาของนาฬิกา และทำให้นาฬิกาสิ้นคุณค่าได้ในเวลาเพียงชั่วพริบตา แม้ว่าผลกระทบต่างๆ นั้นสามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องถอดแยกชิ้นส่วนของนาฬิกา ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า 'การล้างสภาพแม่เหล็ก' แต่กระบวนการนี้จำเป็นต้องดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญ และศูนย์บริการทั่วโลกยังรายงานว่าการซ่อมแซมผลกระทบจากสนามแม่เหล็กนั้นเป็นภาระงานที่มีปริมาณมากที่สุดของพวกเขา

ภารกิจในการคิดค้นระบบป้องกันสนามแม่เหล็ก

เรื่องราวความมุ่งมั่นของช่างผลิตนาฬิกาในการรังสรรค์เรือนเวลาที่ไม่ได้รับผลกระทบจากแม่เหล็กโดยสิ้นเชิง บรรลุผลสำเร็จด้วยกลไกระดับ Master Chronometer ของ Omega ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้ แต่จุดเริ่มต้นของเรื่องราวนี้ได้เริ่มขึ้นมานานกว่า 200 ปีแล้ว ในขณะที่นาฬิกาพกยุคแรกๆ นั้นไม่ค่อยได้พบเจอกับแม่เหล็กบ่อยเท่าไรนัก แต่ทว่าระหว่างการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สอง ไฟฟ้าที่เป็นแหล่งพลังงานใหม่ก็ถูกค้นพบว่าสามารถก่อปัญหาด้านความเที่ยงตรงกับนาฬิกาพก

กระแสไฟฟ้าอันทรงพลังที่ผลิตขึ้นเพื่อขับเคลื่อนเครื่องจักรยุคใหม่ และแสงจากหลอดไฟได้นำพาสนามแม่เหล็กที่มองไม่เห็นมาด้วย และมีการตรวจพบอย่างรวดเร็วว่าสิ่งนี้คือต้นเหตุของปัญหาในการบอกเวลา ชิ้นส่วนกลไกของนาฬิกาได้รับการออกแบบเพื่อให้สามารถขยับอย่างเป็นอิสระที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ชิ้นส่วนกลไกนับไม่ถ้วนถูกจัดเรียงอยู่ภายในพื้นที่ขนาดเล็ก ทุกชิ้นจึงต้องทำงานได้อย่างสอดผสานและบอกเวลาได้อย่างเที่ยงตรงตามเกณฑ์

เมื่อชิ้นส่วนถูกเหนี่ยวนำให้มีสภาพแม่เหล็ก แต่ละชิ้นจะเกิดการดึงดูดจนแต่ละชิ้นส่วนติดกันแทนที่จะสามารถขยับได้อย่างราบรื่น ตั้งแต่แรกเริ่ม ผู้ผลิตเรือนเวลาคุณภาพสูงตระหนักดีว่าการผลิตชิ้นส่วนกลไกจากวัสดุที่ไม่ใช่โลหะนั้นสามารถแก้ไขปัญหาบางประการได้ เนื่องจากโลหะและอัลลอยด์เหล่านี้มีคุณสมบัติในการต้านทานสนามแม่เหล็ก เพราะมีส่วนประกอบของเหล็กในปริมาณต่ำ ในขณะที่การรังสรรค์เพลทและชุดเฟืองจากทองเหลืองช่วยจัดการปัญหาได้เล็กน้อย แต่ชิ้นส่วนหนึ่งที่จำเป็นต้องผลิตจากสตีลก็คือแฮร์สปริง เพราะเป็นวัสดุเพียงชนิดเดียวที่มีความน่าเชื่อถือและมีอายุการใช้งานยาวนาน ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1800 เหล่าช่างผลิตนาฬิกาได้ทุ่มเทอย่างหนักเพื่อค้นหาวัสดุสำหรับการผลิตสปริง ซึ่งจะไม่ได้รับผลกระทบจากสนามแม่เหล็ก และในท้ายที่สุดก็ประสบผลสำเร็จจากการทดลองกับวัสดุประเภทแก้ว แพลเลเดียม และทองคำ อย่างไรก็ตาม วัสดุเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความเปราะบางเกินไปสำหรับการใช้งานระยะยาว รวมถึงอัตราการผลิตชิ้นส่วนในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งค่อนข้างเป็นปัญหาสำหรับเทคโนโลยีในยุคสมัยนั้น จนกระทั่งถึงช่วงเปลี่ยนผ่านศตวรรษที่มีการค้นพบอัลลอยด์ชนิดใหม่ซึ่งมีทั้งความยืดหยุ่นและคุณสมบัติในการต้านทานสนามแม่เหล็กตามที่ต้องการ ซึ่งเป็นการปูทางไปสู่นาฬิกาพกเชิงพาณิชย์แบบ “ต้านทานสนามแม่เหล็ก” เรือนแรกที่ได้เปิดตัวในปี 1915

[READ_MORE]

ในยุคนี้เอง ก็ปรากฎการออกแบบเครื่องบอกเวลาแบบใหม่ที่ทำให้ลูกค้าต่างประหลาดใจเป็นอย่างมาก นั่นก็คือเรือนเวลาที่จะสวมใส่บนข้อมือแทนการพกไว้ในกระเป๋า ข้อมือเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับการสวมใส่นาฬิกา เพราะตำแหน่งนี้จะช่วยให้ผู้สวมใส่สามารถอ่านเวลาได้ "โดยไม่ต้องใช้มือหยิบนาฬิกาขึ้นมาดู" ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในขณะที่ผู้สวมนาฬิกากำลังควบคุมเครื่องจักร เช่น รถยนต์และอากาศยานในยุคแรกๆ อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งนี้ทำให้นาฬิกาที่เปราะบางเสี่ยงจะได้รับความเสียหายมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงความเสียหายจากการกระแทกและน้ำเข้าตัวเรือนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงจากแหล่งกำเนิดสนามแม่เหล็กด้วย ปัญหานี้กลายเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก จนกระทั่งปี 1925 Omega ได้เปิดตัวนาฬิกาข้อมือโครโนกราฟที่มีการระบุคำว่า “Anti-Magnetique” (ต้านทานสนามแม่เหล็ก) ไว้อย่างภาคภูมิบนหน้าปัดอีนาเมล ตามด้วยนาฬิกาพกและนาฬิกาข้อมือโครโนกราฟอีกหลายรุ่นในช่วงปลายทศวรรษ นาฬิการุ่นแรกๆ เหล่านี้ให้การปกป้องที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับนาฬิการุ่นอื่นๆ ในช่วงเวลานั้น อย่างไรก็ตาม ระดับการลดผลกระทบของสนามแม่เหล็กนั้นถูกจำกัดด้วยเทคโนโลยีที่สามารถจัดการได้เฉพาะการเหนี่ยวนำแม่เหล็กในระดับต่ำเท่านั้น

แรงผลักดันในช่วงหลังสงคราม

ในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง กระทรวงกลาโหมของอังกฤษ (MoD) ได้จัดทำข้อกำหนดจำเพาะสำหรับนาฬิกาข้อมือของนักบินและต้นหนขึ้น โดยรวมถึงข้อกำหนดที่ว่านาฬิกาจะต้องมีความต้านทานต่อสนามแม่เหล็กที่มากกว่าเดิม นับเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเครื่องบินขับไล่ในยุคนั้นแทบไม่สามารถป้องกันแหล่งกำเนิดสนามแม่เหล็กขนาดใหญ่ ซึ่งก็คือแมกนีโตอันทรงพลังในเครื่องยนต์นั่นเอง ระหว่างช่วงสงคราม Omega ได้ส่งมอบนาฬิกาตามข้อกำหนดของ MoD กว่า 110,000 เรือน นับเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของจำนวนนาฬิกาทั้งหมดที่สวิตเซอร์แลนด์จัดหาให้กับสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นที่ยอมรับในด้านคุณภาพและความเที่ยงตรงจากกองทัพ

เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีมากมายที่เกิดระหว่างสงครามก็ได้รับการนำมาใช้ในโครงการภาคพลเรือน เช่น การใช้ประโยชน์จากนิวเคลียร์ฟิวชันเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับการใช้ภายในประเทศ การปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะที่เก่าแก่ รวมถึงการพัฒนาเครื่องยนต์ไอพ่นและจรวด บุคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ต่างก็ตรากตรำทำงานในสถานที่ทำงานซึ่งเต็มไปด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่ทรงพลังอย่างยิ่ง และนาฬิกาของพวกเขาก็ประสบกับปัญหามากมาย ด้วยเหตุนี้ ทาง Omega จึงเริ่มทดลองกลไกใหม่ที่ต้านทานต่อแม่เหล็กหลากหลายแบบ โดยมีจักรกรอก (balance wheels) ที่ผลิตจากอัลลอยด์ชนิดพิเศษซึ่งมีปริมาณเบริลเลียมสูง และถูกป้องกันด้วยกรงฟาราเดย์ แต่เนื่องจากแฮร์สปริงยังคงผลิตจากสตีลที่มีส่วนประกอบของเหล็กสูง วิธีเดียวที่ช่างผลิตนาฬิกาใช้ในการป้องกันรังสีแม่เหล็กได้ก็คือ การหลีกเลี่ยงไม่ให้รังสีแม่เหล็กเข้าถึงชิ้นส่วนที่ละเอียดอ่อนนี้

[READ_MORE]

กรงฟาราเดย์ถูกสร้างขึ้นโดยการล้อมรอบกลไกอันเปราะบางด้วยวัสดุนอกกลุ่มเหล็ก ทั้งด้านหลังของกลไกและด้านหน้าที่แฝงอยู่ในรูปหน้าปัดได้อย่างชาญฉลาด กรงจะบังคับให้สนามแม่เหล็กเคลื่อนออกโดยรอบ แทนที่จะทะลุเข้าไปภายในและเปลี่ยนสถานะของชิ้นส่วนกลไกให้มีสมบัติเป็นแม่เหล็ก ในปี 1953 ต้นแบบเหล่านี้ได้กลายเป็นรากฐานของนาฬิกาสำหรับนักบินแบบใหม่ที่สามารถต้านทานสนามแม่เหล็กเพื่อตอบรับกับข้อกำหนดใหม่ของ MoD ที่เข้มงวดยิ่งกว่าเดิม และในปีเดียวกันนั้นเอง ยังมีการเปิดตัวต้นแบบนาฬิกาข้อมือต้านทานสนามแม่เหล็กสำหรับพลเรือนที่มีการระบุชื่อบนหน้าปัดว่า “Railmaster” ที่ยืมชื่อมาจากการรถไฟของแคนาดาเพื่อเข้าร่วมในโครงการวิจัยร่วมเป็นเวลานานนับปีในการพัฒนานาฬิกาต้านสนามแม่เหล็กให้สมบูรณ์แบบ

ความรู้ที่ได้จากการทำงานร่วมกันนำไปสู่การเริ่มผลิตเรือนเวลารุ่น Railmaster ในปี 1957 ซึ่งเป็นเรือนเวลาที่เน้นกลุ่มเป้าหมายไปยังมืออาชีพที่จำเป็นต้องใช้นาฬิกาต้านทานสนามแม่เหล็กในการทำงาน เทคโนโลยีที่นำมาปรับใช้ช่วยมอบคุณสมบัติการต้านทานแม่เหล็กที่ประมาณ 1,000 เกาส์ให้กับนาฬิกาเหล่านี้ นับว่าสูงกว่านาฬิกาข้อมือทั่วไปถึง 15 เท่า ซึ่งนับได้ว่าเป็นนาฬิกาแห่งนวัตกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง สำคัญมากพอที่จะทำให้ Railmaster มียอดจำหน่ายเทียบเท่ากับนาฬิกาโครโนกราฟ Speedmaster และ Seamaster 300 โฉมใหม่ในเวลานั้นเลยทีเดียว ทั้งนี้ ตลอดช่วงเวลาที่เหลือของศตวรรษที่ 20 Omega ยังคงผลิตนาฬิกาที่มีความต้านทานแม่เหล็ก โดยใช้อัลลอยด์เอลินวาร์ (Elinvar) และอินวาร์ (Invar) ในการผลิตบาลานซ์สปริง และนำกรงฟาราเดย์ไปบรรจุไว้ภายในโครงสร้างของนาฬิกา อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายทศวรรษ สิ่งแวดล้อมโดยรอบของเรือนเวลาก็ปรากฏแหล่งกำเนิดแม่เหล็กที่มากยิ่งขึ้นและทรงพลังยิ่งกว่าเดิม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากผู้บริโภค แต่ก็ยังรวมถึงของใช้ในชีวิตประจำวันที่มีการใช้แม่เหล็กมากขึ้นด้วย วิศวกรของ Omega รู้สึกกังวลเกี่ยวกับข้อจำกัดของเทคโนโลยีการป้องกันที่มีอยู่ จึงได้มองย้อนกลับไป ณ จุดที่ช่างผลิตนาฬิกาได้เริ่มแก้ไขปัญหานี้เมื่อกว่าหนึ่งร้อยปีก่อน และพวกเขาได้มุ่งเน้นไปที่การประดิษฐ์แฮร์สปริงรูปแบบใหม่

กรงฟาราเดย์

กรงฟาราเดย์ได้รับการคิดค้นขึ้นในปี 1836 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ไมเคิล ฟาราเดย์ (Michael Faraday) เพื่อป้องกันสนามไฟฟ้าโดยใช้วัสดุที่สามารถนำไฟฟ้าเพื่อส่งผ่านพลังงานไปที่ด้านนอกของกรง และปกป้องอุปกรณ์อันบอบบางที่อยู่ภายใน

การออกแบบกรงสร้างการป้องกันนี้ขึ้นด้วยการกระจายผลกระทบของสนามไฟฟ้าเหนือวัสดุที่สามารถนำไฟฟ้า ลดผลกระทบของสนามไฟฟ้าภายในกรงให้หมดไป กรงเหล่านี้สามารถนำไปใช้เพื่อปกป้องผู้คนจากการถูกฟ้าผ่า และใช้ในการคายประจุไฟฟ้าสถิตได้ อีกทั้งยังถูกใช้ในวงกว้างเพื่อปกป้องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่บอบบางจากการรบกวนของคลื่นความถี่วิทยุอีกด้วย แม้ว่ากรงฟาราเดย์จะไม่สามารถปิดกั้นสนามแม่เหล็กแบบคงที่ หรือสนามแม่เหล็กที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ (เช่น สนามแม่เหล็กโลก) ได้ แต่กรงเหล่านี้มีประสิทธิภาพในการปกป้องสิ่งที่อยู่ภายใน หากวัสดุตัวนำที่ห่อหุ้มอยู่มีความหนามากพอ หรือหากช่องว่างของกรงนั้นมีขนาดเล็กกว่าความยาวคลื่นของการแผ่รังสีแม่เหล็กไฟฟ้าอย่างมาก

บาลานซ์สปริง

แฮร์สปริงที่ขดแน่นหรือบาลานซ์สปริงนั้นเป็นชิ้นส่วนที่ควบคุมการบอก นับได้ว่าเป็นชิ้นส่วนขนาดจิ๋วของนาฬิกาข้อมือที่เทียบเท่ากับลูกตุ้มในนาฬิกา และผลิตขึ้นอย่างแม่นยำตามความยาวและความตึงที่เท่ากัน

เมื่อสปริงเกิดการขดและการคลายตัว จักรกรอกก็จะแกว่งด้วยความถี่เรโซแนนซ์ เพื่อควบคุมอัตราการหมุนของเฟืองนาฬิกา ยิ่งความถี่นี้มีความเสถียรมากเท่าไร เรือนเวลาก็จะมีความเที่ยงตรงมากขึ้นเท่านั้น แต่เมื่อถูกเหนี่ยวนำให้มีสภาวะแม่เหล็กแล้ว ขดลวดของสปริงจะยึดติดกัน และทำให้สปริงไม่สามารถคลายตัวได้เต็มที่ ซึ่งทำให้ความยาวของสปริงสั้นลง ส่งผลให้การบอกเวลานั้นเดินเร็วขึ้น ทั้งนี้ในปี 2008 Omega ได้เปิดตัวกลไกโคแอ็กเซียล (Co-Axial) ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีบาลานซ์สปริงที่ผลิตขึ้นจากซิลิคอน Si14 ในขณะที่สปริงที่ผลิตจากสตีลจะต้องเผชิญกับปัจจัยหลายอย่างในระหว่างการผลิต และมีอายุการใช้งานที่จำกัด การรังสรรค์ชิ้นส่วนที่ละเอียดอ่อนเหล่านี้จากซิลิคอน Si14 ช่วยให้มั่นใจได้ว่าการผลิตรูปทรงนั้นจะเหมือนเดิมทุกครั้งและเป็นไปตามข้อกำหนดจำเพาะ วัสดุยุคอวกาศนี้ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการผลิตเพื่อขึ้นรูปสปริงที่สมบูรณ์แบบโดยตรงจากแผ่นซิลิคอนในขั้นตอนเดียว ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือชิ้นส่วนที่มีความละเอียดกว่าเส้นผมมนุษย์ถึงสามเท่า ซึ่งทนทานต่อแรงกระแทกที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และไม่ได้รับผลกระทบจากสนามแม่เหล็กโดยสิ้นเชิง

“การสร้างสรรค์กลไกที่สามารถต้านทานแม่เหล็กรุ่นใหม่ได้นำมาซึ่งยุคใหม่ของเรือนเวลาที่ไม่ได้รับผลกระทบจากแม่เหล็กอีกต่อไป”

การทดสอบระดับสูงสุด

เทคโนโลยีทางวัสดุพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และในปี 2008 Omega สามารถผสานชิ้นส่วนบาลานซ์สปริงซิลิคอน Si14 เข้ากับกลไกแบบโคแอ็กเชียลได้ ซึ่งช่วยลดปัญหาด้านสนามแม่เหล็กให้กับชิ้นส่วนที่ควบคุมการบอกเวลาที่สำคัญนี้ได้ในทันที นวัตกรรมเดียวกันนี้เองได้ปูทางสำหรับการสรรค์สร้างกลไก Co-axial calibre 8508 โฉมใหม่ที่ไร้ปัญหาจากปัจจัยสนามแม่เหล็กโดยสิ้นเชิง และปรับเปลี่ยนกลไกด้วยการใช้วัสดุในการผลิตชิ้นส่วนเคลื่อนไหวจากวัสดุนอกกลุ่มเหล็ก รวมถึงไทเทเนียมและนิกเกิล-ฟอสฟอรัส

ชิ้นส่วนที่ได้รับการปรับปรุงใหม่เหล่านี้ช่วยให้เรือนเวลาสามารถทนสนามแม่เหล็กที่มีค่ามากกว่า 15,000 เกาส์ได้โดยไม่ต้องกลัวว่าการบอกเวลาจะผิดเพี้ยนไป ข้อดีอีกประการหนึ่งจากการเลิกใช้กรงฟาราเดย์เป็นเกราะป้องกันสนามแม่เหล็กก็คือการที่เราสามารถรับชมกลไกผ่านช่องบนฝาหลังได้ กลไกรุ่นใหม่ที่เปิดตัวพร้อมกับเรือนเวลา Omega Seamaster Aqua Terra ที่สามารถต้านทานแม่เหล็กได้ >15,000 เกาส์ในช่วงปลายปี 2013 กลับกลายเป็นสิ่งที่พลิกโฉมวงการนาฬิกา เพราะทำให้เครื่องบอกเวลาดังกล่าวเป็นนาฬิการุ่นแรกที่ไม่เพียงต้านทานต่อแรงแม่เหล็กในระดับต่ำได้เท่านั้น แต่ยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากสนามแม่เหล็กที่ทรงพลังที่สุดอีกด้วย ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา Omega ได้เริ่มแคมเปญเพื่อเผยโฉมเทคโนโลยีต้านทานแม่เหล็กใหม่นี้ในการเปิดตัวนาฬิการุ่นใหม่ พร้อมการเปิดตัวกลไกคาลิเบอร์ตระกูล Master Co-Axial ใหม่ของตน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลไกมีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กสำหรับขับเคลื่อนนาฬิกาสำหรับบุรุษและสตรี และในปี 2016 มีการใช้งานกลไกนี้ร่วมกับ Calibre 8800/8900 และ 9900 สำหรับโครโนกราฟ

[READ_MORE]

ในขณะที่นาฬิการุ่นปี 1925 นาฬิกาสำหรับนักบินในสงครามโลกครั้งที่สอง และนาฬิกา Railmaster จัดอยู่ในประเภท “ต้านทานแม่เหล็ก” อย่างถูกต้องตามมาตรฐานในยุคสมัยนั้น คำจำกัดความก่อนหน้าทั้งหมดของคำๆ นี้กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยทันทีที่ Omega ได้เปิดตัวนาฬิกาเรือนแรกที่ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากสนามแม่เหล็กโดยสิ้นเชิงในปี 2013 ในเวลานี้ Omega เริ่มมีความกังวลว่าผู้บริโภคไม่ควรเชื่อคำกล่าวอ้างของช่างผลิตนาฬิกาแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยปราศจากทางเลือกอื่นๆ แต่มองว่าผู้ซื้อนั้นต้องได้รับความมั่นใจว่าคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับประสิทธิภาพนั้นจะต้องผ่านการพิสูจน์โดยบุคคลที่สามด้วย ในขณะที่อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสว่าจ้างหน่วยงานอื่นเพื่อทดสอบอุปกรณ์สำหรับการบอกเวลาของตนเองมาตลอดหลายปีแล้ว แต่ทาง Omega ต้องการการทดสอบที่หลากหลายกว่านี้ จึงได้ติดต่อไปที่สถาบันมาตรวิทยาแห่งสหพันธ์ (METAS) ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานอย่างเป็นทางการของสวิตเซอร์แลนด์เพื่อพัฒนาชุดการทดสอบที่สามารถยืนยันคำกล่าวอ้างของผู้ผลิตได้ ทั้งนี้ METAS ยังเป็นหน่วยงานที่เชื่อถือได้ และอยู่ในสถานะที่ดีที่จะบังคับใช้มาตรฐานใหม่ อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานอิสระ ซึ่งช่วยให้ผู้ผลิตรายอื่นๆ สามารถส่งผลิตภัณฑ์ของพวกเขาเพื่อเข้ารับการทดสอบนี้ และรับการรับรองใหม่ได้อีกด้วย METAS จะทดสอบนาฬิกาแต่ละเรือนเป็นเวลา 15 วันเต็มในแปดด้านสำคัญ ซึ่งรวมถึงการทดสอบการต้านทานแม่เหล็กถึงสามรายการด้วย การทดสอบสองรายการแรกจะดำเนินการกับกลไกหลังผ่านการทดสอบ COSC (การรับรองโครโนมิเตอร์อิสระ) เสร็จสิ้นแล้ว จากนั้นจะทำการทดสอบอีกครั้งเมื่อติดตั้งกลไกลงในนาฬิกาแล้ว

ในระหว่างชุดการทดสอบเหล่านี้ เจ้าหน้าที่จะวางกลไกสิบเครื่อง (และต่อด้วยนาฬิกา) ลงในอุโมงค์ที่ประกอบด้วยแม่เหล็กถาวรสามร้อยชิ้น ซึ่งจะสร้างสนามแม่เหล็กที่มีความแรง 15,000 เกาส์ การทดสอบแต่ละรายการจะดำเนินการสองครั้ง โดยที่แต่ละครั้งจะมีการวางในตำแหน่งที่แตกต่างกัน การบอกเวลาในระหว่างการทดสอบจะวัดค่าโดยใช้ไมโครโฟนที่เปรียบเทียบเสียงเดินในช่วงเวลา 30 วินาทีที่สะท้อนออกมาแตกต่างกัน ซึ่งในการทดสอบด้านที่สามที่เกี่ยวข้องกับสนามแม่เหล็กนั้น นาฬิกาจะได้รับการล้างสภาพแม่เหล็กโดยสมบูรณ์ และเข้ารับการทดสอบซ้ำ